ความรักในทฤษฎีวรรณคดีสันสกฤต

ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับความรักในทฤษฎีวรรณคดีสันสกฤต รวมทั้งศึกษาความเหมือนและความต่างของความรักในทฤษฎีวรรณคดีสันสกฤตกับความรักในวรรณคดีสันสกฤต โดยศึกษาข้อมูลเรื่องทฤษฎีความรักจากวรรณคดีสันสกฤตประเภทตำรา 3 เล่มคือ นาฏยศาสตร์ ทศรูปกะ และสาหิตยทรรปณะ และศึกษาเรื่องความรักในวรรณคดีสันสกฤตประเภทขัณฑกาพย์ 3 เรื่องคือ อมรุศตกะของกวีอมรุ ศฤคารศตกะของภรรตฤหริ และเจารปัญจาศิกาของพิลหณะ นาฏยศาสตร์กล่าวถึงความรักระหว่างชายหญิงว่าเป็นศฤงคารรสซึ่งเป็นหนึ่งในรสทั้งแปด การเกิดขึ้นของรสเกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆหลายขั้นตอนคือ สถายิภาวะ (ความรู้สึกถาวรและดำรงอยู่นาน) อนุภาวะ (ผลของความรู้สึกที่มีมาก่อน) สาตตวิกภาวะ (ความรู้สึกที่แท้จริง ซึ่งทำให้มีการแสดงออกโดยทันทีและโดยไม่ตั้งใจ) และวยภิจาริภาวะ (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นและหายไปในระยะที่ไม่แน่นอน) ทฤษฎีรสในนาฏยศาสตร์นี้ได้รับการยอมรับจากนักคิดชาวอินเดียในสมัยต่อมา และกลายเป็นทฤษฎีหนึ่งในทศรูปกะและสาหิตยทรรปณะ โดยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ความรักหรือศฤงคารรส แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ สัมโภคะ (ความรักที่สมหวัง) และวิประลัมภะ (ความรักที่ต้องพลัดพรากจากกัน) โดยทศรูปกะได้เพิ่มเติมไว้อีกหนึ่งประเภทคือ อโยคะ ซึ่งแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกับวิประลัมภะเลย ในส่วนของขัณฑกาพย์ทั้ง 3 เรื่องที่อ้างมา เป็นบทลำนำที่เขียนขึ้นด้วยภาษาสันสกฤต ประดับด้วยอลังการต่างๆ และตามรอยทฤษฎีของนาฏยศาสตร์ ขัณฑกาพย์ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นคำประพันธ์ที่บรรยายความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะเมื่อคู่รักต้องพลัดพรากจากกัน ส่วนเจารปัญจาศิกาก็แสดงให้เห็นถึงความทรงจำและความคิดถึงกัน ซึ่งเป็นอนุภาวะตลอดทั้งเรื่อง
This data repository is not currently reporting usage information. For information on how your repository can submit usage information, please see our documentation.