การควบคุมการใช้อำนาจของแพทยสภาโดยศาลปกครอง

ศึกษาถึงลักษณะการใช้อำนาจทางปกครองของแพทยสภาในการควบคุม การประกอบวิชาชีพเวชกรรม ลักษณะและขอบเขตของการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจดังกล่าวโดยศาลปกครอง พร้อมทั้งศึกษาเปรียบเทียบในเรื่องดังกล่าวกับต่างประเทศ อันได้แก่ ประเทศอังกฤษและประเทศฝรั่งเศส โดยเน้นการศึกษาจากแนวคำวินิจฉัยของศาลเป็นสำคัญ จากการศึกษาพบว่า การควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจทางปกครองของแพทยสภา ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโดยศาลปกครองในประเทศไทย การควบคุมโดยศาลปกครองในประเทศฝรั่งเศส หรือการควบคุมโดยศาลยุติธรรมในประเทศอังกฤษ องค์กรศาลมีอำนาจเข้าไปควบคุมตรวจสอบการกระทำทางปกครองของแพทยสภาได้ทั้งในส่วนที่เป็นการออกกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือ คำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับการประพฤติผิดจริยธรรมหรือจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเวชกรรม (หรือที่ในประเทศฝรั่งเศส เรียกว่า “นิติกรรมทางตุลาการ”) ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างกันที่น่าสนใจในส่วนของคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสสามารถยื่นฟ้องคดีต่อกองเซย เดตา หรือสภาแห่งรัฐ (ซึ่งเทียบได้กับศาลปกครองสูงสุดในประเทศไทย) ได้โดยตรง แต่จะยื่นฟ้องได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น โดยเกิดจากแนวคิดที่ว่าเมื่อข้อพิพาทดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาวินิจฉัยโดยองค์กรวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางด้านการแพทย์และทางด้านกฎหมายแล้ว ปัญหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวจึงควรรับฟังเป็นยุติโดยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญดังกล่าวแล้ว ซึ่งทำให้ การพิจารณาวินิจฉัยคดีดังกล่าวมีความรวดเร็วและสอดคล้องกับหลักการมอบอำนาจทางปกครองให้แก่องค์กรวิชาชีพ เป็นผู้ควบคุมตรวจสอบกันเอง พร้อมกับจำกัดบทบาทในการควบคุมตรวจสอบโดยองค์กรศาล ไว้เพียงในส่วนที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐและหลักการแบ่งแยกอำนาจนั่นเอง ผู้ศึกษาจึงได้เสนอให้มีการปรับแก้หลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวในส่วนของประเทศไทย ให้มีลักษณะเช่นเดียวกันกับประเทศฝรั่งเศสดังกล่าว
This data repository is not currently reporting usage information. For information on how your repository can submit usage information, please see our documentation.