การแปลงหุ้นบุริมสิทธิในบริษัทจำกัดในประเทศไทย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทจำกัดมิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นสามัญไว้อย่างชัดแจ้ง และมาตรา 1142 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า ถ้าบริษัทได้ออกหุ้นบุริมสิทธิไปแล้ว ได้กำหนดไว้ว่าบุริมสิทธิจะมีแก่หุ้นนั้นๆ เป็นอย่างไร ท่านห้ามมิให้แก้ไขอีกเลย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าการแปลงหุ้นบุริมสิทธิถือเป็นการแก้ไขสิทธิของหุ้นอย่างหนึ่ง ต้องห้ามมิให้กระทำตามมาตรา 1142 ส่งผลให้การแปลงหุ้นบุริมสิทธิจะต้องใช้วิธีการโดยอ้อม คือ ลดทุนบริษัทเพื่อยกเลิกหุ้นบุริมสิทธิ แก้ไขข้อบังคับโดยยกเลิกบุริมสิทธิในหุ้นดังกล่าว แล้วจึงดำเนินการเพิ่มทุนด้วยการออกหุ้นสามัญใหม่ทดแทนหุ้นบุริมสิทธิที่ถูกยกเลิกไป แต่วิธีการดังกล่าวมีข้อจำกัดหลายประการ คือ มีกระบวนการที่ยุ่งยากและซับซ้อนและใช้เวลาในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อให้ได้รับมติลดทุน แก้ไขข้อบังคับ เพิ่มทุน บริษัทต้องคืนเงินให้ผู้ถือหุ้นและให้ผู้ถือหุ้นนำเงินลดทุนดังกล่าวมาชำระเป็นค่าหุ้น ซึ่งเงินลดทุนดังกล่าวอาจไม่เพียงพอที่จะชำระค่าหุ้นเพิ่มทุน และหากเงินลดทุนดังกล่าวทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับกำไร ผู้ถือหุ้นจะต้องนำเงินกำไรดังกล่าวไปเสียภาษี รวมถึงเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิคัดค้านการลดทุนได้ ซึ่งการแปลงหุ้นบุริมสิทธิโดยอ้อมด้วยการลดทุนดังกล่าวนั้น มิได้เป็นการลดทุนที่แท้จริงแต่ประการใด ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้มีบทบัญญัติรองรับการแปลงหุ้นบุริมสิทธิเป็นหุ้นสามัญได้โดยตรงและเปลี่ยนแปลงบุริมสิทธิแห่งหุ้นได้
This data repository is not currently reporting usage information. For information on how your repository can submit usage information, please see
our documentation.