การพัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์บรรยากาศดัดแปรจากสารผสมระหว่างพอลิเอธิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำกับเทอร์โมพลาสติกพอลิเอสเทอร์อีลาสโตเมอร์
งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาฟิล์มบรรจุภัณฑ์บรรยากาศดัดแปร (Modified Atmosphere Packaging Film) โดยศึกษาถึงผลของปริมาณสารเทอร์โมพลาสติกพอลิเอสเทอร์อิลาสโตเมอร์ (TPEE) ในสัดส่วน 0 - 50% โดยน้ำหนักที่ถูกผสมเข้าไปในพอลิเอธิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) และสภาวะการขึ้นรูปฟิล์ม ได้แก่ อัตราเร็วในการดึงฟิล์ม (Film Pulling Speed) ช่วง 200 - 240 rpm และอุณหภูมิหล่อเย็นฟิล์ม 15 – 50 องศาเซลเซียสต่อค่าความสามารถในการซึมผ่านแก๊สและไอน้ำของฟิล์มที่ได้ผลการทดลองพบว่าการเติม TPEE ลงใน LDPE ในปริมาณที่มากขึ้นส่งผลให้ความสามารถในการซึมผ่านไอน้ำและแก๊สของ MAP Film มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะ TPEE มีความสามารถในการซึมผ่านไอน้ำและแก๊สสูงกว่า LDPE นอกจากนี้การเพิ่มอัตราเร็วในการดึงฟิล์มส่งผลทำให้ช่องว่าง (Void) บริเวณรอยต่อระหว่างวัฏภาคของ LDPE กับ TPEE กว้างขึ้น ส่งผลให้อัตราการซึมผ่านของไอน้ำและแก๊สเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกัน การเพิ่มอุณหภูมิหล่อเย็นฟิล์มส่งผลให้เปอร์เซ็นต์ความเป็นผลึกของฟิล์มเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการซึมผ่านของไอน้ำและแก๊สมีแนวโน้มลดลง ส่วนการทำนายเวลาที่แก๊สในถุงบรรจุภัณฑ์เข้าสู่สภาวะคงตัวและปริมาณแก๊สในถุงบรรจุภัณฑ์โดยใช้โปรแกรม MATLAB พบว่า ภายใต้สภาวะที่ศึกษา แก๊สในถุงบรรจุภัณฑ์เข้าสู่สภาวะคงตัวภายในเวลา 24 ชั่วโมง โดยที่ MAP Film ที่มีค่าความสามารถในการซึมผ่านแก๊สออกซิเจนสูงกว่า ทำให้ปริมาณแก๊สออกซิเจนภายในถุงบรรจุภัณฑ์ที่สภาวะคงตัวมีค่าสูงกว่าและในทางกลับกัน MAP Film ที่มีค่าความสามารถในการซึมผ่านแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า ทำให้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ภายในถุงบรรจุภัณฑ์ที่สภาวะคงตัวมีค่าน้อยกว่า
This data repository is not currently reporting usage information. For information on how your repository can submit usage information, please see
our documentation.