การออกแบบและสร้างสถานีงานต้นแบบโดยใช้หลักการยศาสตร์: กรณีศึกษา
การศึกษาวิจัยนี้เพื่อออกแบบและสร้างสถานีประกอบอันเนื่องมาจากได้มีการนำสวิตช์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูงชนิดภายในเป็นสุญญากาศแบบ 3 ขั้ว มาทดแทนสวิตช์ตัดตอนไฟฟ้าแรงสูงชนิดภายในบรรจุก๊าชเอสเอฟซิกซ์แบบ 3 ขั้ว ที่เป็นผลิตภัณฑ์เดิม ทั้งนี้ถึงแม้ว่าหน้าที่และหลักการทำงานของผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดจะเหมือนกัน แต่ลักษณะภายนอกค่อนข้างแตกต่างกัน ทำให้ต้องทำการศึกษาขั้นตอนการประกอบของผลิตภัณฑ์เดิมก่อน และใช้หลักการประเมินทางการยศาสตร์ด้วยวิธีการลูล่าเข้ามาช่วยในการประเมิน จากผลการศึกษาพบว่าการประกอบผลิตภัณฑ์เดิมประกอบด้วย 11 ขั้นตอน (11 สถานีงาน) ใช้ระยะทางการประกอบทั้งหมด 113 เมตร และผลคะแนนการประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์การทำงานโดยวิธีการลูล่าเฉลี่ยเป็น 6.45 คะแนน ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากจำเป็นต้องการปรับปรุงสถานีงานทันที ดังนั้น จึงได้ทำการออกแบบสถานนีงานใหม่โดยได้นำหลักการทางการยศาสตร์ หลักการออกแบบจิ๊กฟิกเจอร์ รวมไปถึงหลักการออกแบบสถานีงาน เพื่อปรับปรุงกระบวนการโดยออกแบบขั้นตอนการประกอบได้ 7 ขั้นตอนและรวมสถานีงานให้เป็นสถานีงานเดียวเพื่อลดระยะทางในการขนย้าย สถานีงานสามารถปรับระดับและหมุนรอบได้เพื่อให้สามารถปรับให้เข้ากับผู้ปฏิบัติงาน ผลคะแนนการประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์การทำงานโดยวิธีการลูล่าเฉลี่ยเป็น 4.57 คะแนน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับสถานีงานเดิม
This data repository is not currently reporting usage information. For information on how your repository can submit usage information, please see
our documentation.